วันจันทร์, ธันวาคม 29, 2551

ปูพรมมาตรการคลังปั๊มเศรษฐกิจพ้นโคม่า


ปี 2551 ถือว่าเป็นปีที่รัฐบาลงัดมาตรการทางการคลังนับไม่ถ้วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีวิกฤตอยู่ในอาการโคม่า
อันดับแรกการตั้งงบประมาณปี 2551 จำนวน 1.6 ล้านล้านบาท ขาดดุล 1.7 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจปี 2551 จะขยายตัวได้ไม่ดี
นอกจากนี้ ยังมีการออกมาตรการภาษีให้หักลดหย่อนจากภาระดอกเบี้ยซื้อบ้านจาก 5 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงสมัยรัฐบาลขิงแก่
หลังจากที่ต้นปี 2552 ประเทศได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ออกมาตรการทั้งการคลังจำนวนมากทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่จำนวน 3 แสนล้านบาท
หลังจากนั้นมีการออกมาตรการ 4 มี.ค. ซึ่งเป็นมาตรการภาษีชุดใหญ่ แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก ส่วนที่ 1 เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนมีการเพิ่มเงินได้สุทธิที่ได้รับการลดหย่อนภาษีจาก 1 แสนบาท เป็น 1.5 แสนบาท
เพิ่มวงเงินลดหย่อนค่าซื้อประกันจาก 5 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท
เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนจากการซื้อกองหุ้นระยะยาว หรือ LTF จาก 3 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท และเพิ่มการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ หรือ RMF จาก 3 แสนบาท เป็น 5 แสนบาท
ส่วนที่ 2 เป็นมาตรการช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลดเก็บภาษีกำไร และส่วนที่ 3 เป็นการกระตุ้นการลงทุน มีการลดภาษีธุรกิจเฉพาะการซื้ออสังหาริมทรัพย์จาก 3% เหลือ 0.1% และลดภาษีให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เหลือ 25% และ 20% ในตลาดใหม่
ตามมาเดือนเม.ย. รัฐบาลได้ออกมาตรการเงินทุนเพื่อประชาชนและเศรษฐกิจฐานรากแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1.มาตรการสินเชื่อ ให้สถาบันการเงินของรัฐประกอบด้วยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พักชำระหนี้เกษตรกรให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้พ่อค้าแม่ขายผ่านธนาคารประชาชนให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่อนน้อยให้คนรายได้น้อยที่ซื้อบ้าน
ในส่วนที่ 2 เป็นการใส่เพิ่มเงินทุนกองทุน หมู่บ้าน และส่วนที่ 3 เป็นการเร่งจ่ายเงินในโครงการเพิ่มศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน หรือเอสเอ็มแอลเพิ่มการใช้จ่ายฐานราก
แต่มาตรการที่ออกมาไม่ได้ผล ส่วนหนึ่งสามารถทำได้ทันทีบางส่วนก็มีจำนวนไม่มากพอ ที่จะ พยุงเศรษฐกิจได้ ทำให้ในช่วงเดือนก.ค. 2551 รัฐบาลได้ออก 6 มาตรการ 6 เดือน โดยมีการ ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน มีการให้ใช้น้ำไฟขึ้นรถเมล์ฟรีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนคนมีรายได้น้อย เพิ่มเติม
สุดท้ายรัฐบาลตั้งงบประมาณปี 2552 จำนวน 1.8 ล้านล้านบาท เป็นการตั้งงบประมาณแบบ ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท หรือ 2.5% ของจีดีพีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 และต่อเนื่องไปไตรมาส 2 หลังจากนั้นได้ไม่นานก็มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
ต่อมาภายใต้รัฐบาลใหม่ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจมีการเร่งออกมาตรการการคลังดูแลทั้งตลาดทุน และประชาชนฐานรากอย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วยการออกมาตรการภาษีซื้อหน่วยลงทุนกองทุน LTF และ RMF มาลดหย่อนได้เป็นพิเศษภายในปีนี้อีกอย่างละ 2.5 แสนบาท รวมกับหักลดหย่อนปกติทำให้หักลดหย่อนได้ถึงประเภทละ 7.5 แสนบาท
นอกจากนี้ มีการต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะของอสังหาริมทรัพย์ที่จะหมดในเดือน มี.ค. ปี 2552 ออกไปอีก 1 ปี มีการเร่งเบิกจ่ายเงินโครงการเอสเอ็มแอล
ส่วนความพยายามเพิ่มงบประมาณปี 2552 อีก 1 แสนล้านบาท และลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน เกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลแต่หลายฝ่ายก็เชื่อมั่นว่าทั้ง 2 เรื่อง จะเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่เพราะรู้ดีว่าวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงหนักหนาสาหัสมาตรการการคลังที่งัดออกมาใช้ที่ผ่านมายังไม่มากและไม่มีพลังพอที่จะนำพาเศรษฐกิจให้พ้นจากปากเหวได้
ล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำในการ จัดตั้งรัฐบาลก็มีมติหว่านเงินอีกระลอก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเรียนฟรี 15 ปี ใช้เงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยสำหรับคนซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 8 ล้านบาท เพิ่มวงเงินในการ ตั้งงบประมาณกลางปีจาก 1 แสนล้านบาท เป็น 1.2-1.2 แสนล้านบาท เพิ่มวงเงินในการสนับสนุนโครงการเอสเอ็มแอลเป็น 2 เท่า
ขยายเวลา 6 เดือน 6 มาตรการ เพื่อไทยไปอีกอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี
ยังมีอีกหลายระลอกโปรดติดตามหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาสำเร็จเมื่อใด
มหกรรมการหว่านเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกะพริบตาไม่ทัน
นี่อาจไม่ใช่แค่เป็นความหวังอย่างเดียว แต่รับรองความจริงจะเห็นการปูพรมหว่านเงินของรัฐบาลแน่...