วันเสาร์, พฤศจิกายน 15, 2551

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตอนสุดท้าย

สิ้นพระชนม์พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯพระราชทาน เศวตฉัตร ๗ ชั้น กางกั้นพระโกศ


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า
โดยที่ ทรงพระอนุสรณ์ถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ ว่าเป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี ที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณ มาแต่หนหลัง อีกทั้งทรงพระคุณแก่บ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย เป็นที่ประจักษ์แก่ตา แก่ใจ ของมหาชนทั่วไป เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์ เป็นเหตุให้พระองค์และประชาชนทุกชนชั้นอาลัย ระลึกถึงพระคุณเป็นอันมาก
ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระองค์นั้น ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เชิดชูแห่งพระราชวงศ์ ควรได้รับพระเกียรติยศใหญ่ยิ่ง โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าพนักงานจัดเศวตฉัตร ๗ ชั้น กางกั้นพระโกศพระราชทาน เป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศให้ปรากฏสืบไป
ประกาศ ณ วันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ เป็นปีที่ ๖๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

นับว่าเป็นการถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อย่างสูงยิ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลต่างๆ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ได้ทรงสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายในให้ทรงรับการเฉลิมพระนามาภิไธย ทรงพระราชอิสริยศักดิ์อันควรแก่การได้รับสัปตปฎลเศวตฉัตร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี ดังปรากฏมีรายพระนามดังต่อไปนี้

สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์) พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๑
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าบุญรอด)
สมเด็จพระศรีสุราลัย พระบรมราชชนนี ในรัชกาลที่ ๓ (กรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย/เจ้าจอมมารดาเรียม)
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์/สมเด็จพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์)
พระบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง(สมเด็จพระนางเจ้าเสวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ)
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี)
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

ทั้งนี้ แม้ว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จะทรงดำรงพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์แห่งความเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ชั้น “เจ้าฟ้า” เช่นเดิม แต่ทรงได้รับพระราชทานพระเศวตฉัตรและฉัตรเครื่องสูงประกอบพระอิสริยยศเสมอด้วยสมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมชนกนาถ สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช และสมเด็จพระบรมราชกุมารีอันไม่เคยมีปรากฏมาก่อน แต่ในรัชกาลใดว่า สมเด็จพระเชษฐภิคินีแห่งองค์บรมกษัตริย์ จะได้รับการเฉลิมพระเกียรติเพิ่มเติมเป็นพิเศษโดยอนุโลมตามโบราณขัตติยราชประเพณีอย่างใหญ่ยิ่งเช่นนี้ นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงพระราช กตัญญุตาธรรมและน้ำพระราชหฤทัยอย่างสูง ที่พระองค์ทรงมีต่อสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิท แต่เพียงพระองค์เดียว ซึ่งเหตุการณ์อันเป็นมหามงคลสมัยในครั้งนี้ ทำให้ย้อนรำลึกถึงพระราชกตัญญุตาธรรม แห่งองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ผู้ทรงเป็นองค์บรมธัมมิกมหาราช ที่ทรงมีต่อพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลม่อม ผู้ทรงเป็นพระอัยยิกา ที่ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณชุบเลี้ยงพระองค์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ครั้นถึงรัชสมัยที่พระองค์เสด็จผ่านพิภพขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๕ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และในปีพุทธศักราช ๒๔๑๖พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลม่อม กรมพระสุดารัตนราชประยูร ก็ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดา รัตนราชประยูร” เสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี ครั้นถึงคราวที่กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรสิ้นพระชนม์ได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการให้ใช้คำว่า “สวรรคต” เป็นที่บาดหมายใช้ในราชการทั้งปวง พร้อมกันนี้ ได้พระราชทานพระโกศทองใหญ่ประดับพุ่ม เฟื่อง ดอกไม้ไหว และดอกไม้เอว พร้อมทั้งสัปตปฎลเศวตฉัตรเต็มตามพระราชอิสริยยศอย่างสมเด็จพระบรมราชชนนีทุกประการ นับได้ว่าองค์พระภัทรมหาราชผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ได้ทรงดำเนินรอยในแบบอย่างอันดีงามตามที่สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชของพระองค์ ได้ทรงแสดงให้ปรากฏเห็น เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่เหล่าอเนกนิกรสยามชนมาแต่ครั้งบรรพกาล สมดังที่องค์สมเด็จพระทศพลวิมลอนาวรณญาณได้มีพระพุทธดำรัสไว้ว่า “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา” แปลความว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี (นัย ส.ส. ๒o/๒๗๗)

พระสัปตปฎลเศวตฉัตรหรือพระเศวตฉัตร ๗ ชั้น (ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงใช้ว่า “สัตปฎลเศวตฉัตร”) หมายถึง ฉัตรขาว ๗ ชั้น แต่ละชั้นมีระบายขลิบทองแผ่ลวดซ้อน ๓ ชั้น ระบายของฉัตรชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง มีลักษณะเดียวกันกับ “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร”เป็นฉัตรที่ใช้สำหรับประกอบพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษกตลอดจนพระมหากษัตริย์ที่ทรงผ่านการพระราชพิธีบวรราชาภิเษก ซึ่งทรงดำรงพระราชอิสริยศักดิ์เป็นกษัตริย์วังหน้า อาทิ พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศวร์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอัครมเหสี (สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี) สมเด็จพระบรมชนกนาถ สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร) และสมเด็จพระบรมราชกุมารี นอกจากนี้ เมื่อครั้งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีตำแหน่งมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ก็ใช้เป็นฉัตรประกอบพระราชอิสริยยศ สำหรับสมเด็จพระมหาอุปราชาด้วย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พระบวรเศวตฉัตร”

เครื่องพระอภิรุมชุมสายหักทองขวางหรือฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง หมายถึงฉัตรเครื่องสูงที่ใช้สำหรับกระบวนแห่หรือสวมฐานตั้งถวายเป็นเกียรติยศประจำสถานที่หรือในวาระโอกาสพิเศษ ทำด้วยผ้ากำมะหยี่ปักดิ้นทองตามขวางของลายตั้งแต่เพดานตลอดถึงระบาย แต่ละชั้นของฉัตรมีระบาย ๒ ชั้นซ้อน การปักดิ้นขวางชายนี้ถือเป็นของสูง เดิมทีเดียวใช้สำหรับพระมหากษัตริย์แต่เพียงเท่านั้น ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สำหรับสมเด็จพระอัครมเหสี (สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชเทวี) สมเด็จพระบรมชนกนาถ สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช(สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร) พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงได้รับพระราชทานพระสัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตรขาว ๗ ชั้น) อาทิ สมเด็จพระบรมราชกุมารี สำหรับการพระราชพิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเครื่องพระอภิรุมชุมสายหักทองขวาง ประกอบพระอิสริยยศ รอบพระแท่นทองทรายอันประกอบด้วย

๑.
ฉัตรชุมสาย (ฉัตร ๓ ชั้น) ๔ คัน ประดิษฐาน ๔ มุมพระแท่นทองทราย
๒.
ฉัตร ๕ ชั้น ๖ คัน ในระหว่างฉัตร ๕ ชั้นตั้ง “บังแทรก” ทำด้วยผ้าปักหักทองขวาง ๘ องค์
๓.
ฉัตร ๗ ชั้น ๔ คัน (ประดิษฐานหลังพระแท่นทองทราย) ในระหว่างฉัตร ๗ ชั้น ตั้ง “บังสูรย์” ทำด้วยผ้าปักหักทองขวาง ๑ องค์