วันเสาร์, ตุลาคม 25, 2551

เศรษฐกิจพอเพียง ปาฏิหาริย์ในเลโซโท ตอนจบ

ต้องสั่งนำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากถึง 70%
“เราผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอ เนื่องมาจากภูมิอากาศแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน แล้งจัด ฝนมากจนเกินไป และเนื้อที่เพาะปลูกทำการเกษตรมีน้อย โดยเฉลี่ยแล้วเกษตรมีที่ดินเฉลี่ยกันครอบครัวละ 0.5-1 แฮกตาร์ (ประมาณ 3-6 ไร่) เท่านั้น
ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศเน้นไปที่อุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานจากในชนบทอพยพหลั่งไหลเข้ามาในเมืองมากขึ้น ทำให้ประเทศเกิดปัญหาขาดแคลนเรื่องอาหาร ที่ผลิตได้แค่ เพียง 30% ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมากถึง 70%” นายสตีเฟน โมฟูเบตโซอานา รองปลัดกระทรวงเกษตรและความมั่นคงของอาหาร ให้เหตุผลที่ทางรัฐบาลเลโซโทให้ความสนใจในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่สมเด็จพระราชาธิบดี นำแบบอย่างมาจากประเทศไทย และทำให้แนวพัฒนาประเทศต้องพลิกกลับ เน้นพัฒนาชนบทมากขึ้น
แต่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจากไทย จะช่วยได้แค่ไหนยังเป็นเรื่องกังขาของคนทั่วไป
ไม่เว้นแม้กระทั่งคนไทยด้วยกันเอง เพราะแค่ได้ยินได้ฟังแค่คำว่า “พอเพียง” แล้วไม่หรู ไม่รวย ไม่มีใครอยากทำ
คนต่างถิ่น ต่างทวีป ซึ่งไม่เคยรู้เห็นเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อน... รู้สึกไม่ต่างกัน
เมื่อถามว่า ได้ยินคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงครั้งแรกในชีวิตแล้วรู้สึกเช่นไร
นายเทโล สโกเน ข้าราชการบำนาญวัย 65 ปี อดีตผู้อำนวยการด้านพืชไร่ กระทรวงเกษตรฯเลโซโท...เอาแต่หัวเราะ
“ตอนแรกที่ได้ยิน ไม่รู้ว่ามันคืออะไร และไม่แน่ใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับชาวเลโซโทได้จริงหรือเปล่า แต่เมื่อเห็นว่าเป็นโครงการที่กษัตริย์เลโซโทสนพระทัย นำมาจากประเทศไทย เพื่อการช่วยเหลือเกษตร กรยากจน
ก็คิดไว้ก่อนว่าคงจะดี ไม่อย่างนั้นกษัตริย์เลโซโทคงไม่นำมา แต่จะดีจริงแค่ไหน ช่วยเกษตรกรได้จริงหรือเปล่า ขอลองลุ้นดูผลงานสักระยะหนึ่งก่อน”
เพราะที่ผ่านมาด้วยประสบการณ์ทำงานที่กระทรวงเกษตรมายาวนาน รู้เห็นอะไรมามากมาย ผ่านสารพัดโครงการพัฒนาเกษตรกรมาไม่น้อย จึงประเมินค่า แค่เพียงว่า เศรษฐกิจพอเพียงคงให้ผลลัพธ์ไม่ต่างกับโครงการอื่นๆ
ที่ทำไปทำมา...ชาวบ้านไม่เพียงไม่รวยขึ้น ยังได้โอกาสเป็นหนี้มากเป็นเงาตามตัว
แต่หลังจากอดีตข้าราชการบำนาญผู้นี้ ถูกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ขอร้องให้เข้ามาเป็นผู้จัดการโครงการเศรษฐกิจพอเพียงไทย-เลโซโท แทนคนเก่าซึ่งเป็นคนหนุ่ม
เนื่องจากต้องการความเป็นผู้อาวุโสที่สามารถประสานงานขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ และได้รับความยอมรับ เกรงอกเกรงใจจากข้าราชการอื่นๆ เมื่อได้มาลงมือทำเอง ได้เห็นกับตาตัวเอง และเข้าใจในสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญไทยถ่ายทอดให้ สิ่งที่ นายเทโล สโกเน เคยกังขาในเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนไปทันที
“โครงการจากประเทศไทยนี้ สามารถนำไปแก้ปัญหาให้กับคนเลโซโทได้จริง เพราะเป็นแนวทางการนำทรัพยากรที่เรามีอยู่มาใช้ประโยชน์ ให้คุ้มค่าเต็มที่
ช่วยให้ชาวบ้านสามารถยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ ปุ๋ยทำเอง เมล็ดพันธุ์ก็ใช้ของตัวเอง ไม่ต้องไปซื้อหาให้เปลืองเงิน”
เพราะสาเหตุของความยากจนของคนเลโซโทส่วนหนึ่ง ก็แบบเดียวกับคนไทย นั่นคือซื้อแทบทุกอย่าง...ปุ๋ยก็ซื้อ เมล็ดพันธุ์ก็ซื้อ สุดท้ายก็เป็นหนี้
“โครงการช่วยเหลือเกษตรกรจากรัฐบาลเลโซโทที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ จะเป็นการแนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี ใช้เมล็ดพันธุ์แบบนั้นแบบนี้ แต่เกษตรกรต้องควักเงินซื้อเอง และเมื่อเกษตรกรแห่ปลูกกันมาก ปลูกเหมือนกัน ผลผลิตที่ออกมาล้นตลาด ถูกพ่อค้ากดราคาซื้อ เป็นหนี้เป็นสินธนาคาร และถูกธนาคารยึดที่ทำกินไป”
แต่หลักการเศรษฐกิจพอเพียงที่ผู้เชี่ยวชาญไทยแนะนำ นายเทโล สโกเน บอกว่า สอนให้เราพึ่งพาตัวเอง ปลูกให้ตัวเองมีกินพอเพียงไว้ก่อน มีเหลือแล้วค่อยขาย
ถึงจะไม่ได้เงินก้อนใหญ่มากเหมือนกับมีเท่าไรขายหมดอย่างเมื่อก่อน แต่ช่วยให้เรามีเงินเก็บมากกว่า...เพราะมีกินอิ่ม เหลือขายมีแต่ได้กำไรเก็บเข้าบ้าน ไม่ต้องจ่ายเงินให้ใคร
ผิดกับแบบที่เคยเป็นมา มีเท่าไรขายหมด แล้วซื้อเขากิน เงินมีไม่พอ สุดท้ายก็เป็นหนี้ นิซีอัว เลทซี ผู้ช่วยเกษตรสาว เขตมาซารุ (เมืองหลวงของเลโซโท) กล่าวยอมรับว่า ความยากจนของชาวเลโซโทส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อดั้งเดิม
“ที่ผ่านมาเกษตรเลโซโท นิยมปลูกพืชชนิดเดียว หรือพืชเชิงเดี่ยว ปลูกแล้วขายหมด ไม่ปลูกพืชอย่างอื่น ผสมผสานเหมือนอย่างที่โครงการเศรษฐกิจพอเพียงทำ สาเหตุมาจากชาวบ้านเชื่อว่า การปลูกพืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน พืชจะตาย
ก็เลยปลูกอย่างเดียว แต่หลังจากมีการนำเศรษฐกิจแบบพอเพียงจากประเทศไทย มาทดลองทำ มีการปลูกพืชหลายอย่างรวมกัน เกษตรกรที่ทราบข่าวต่างอยากจะมาดูให้เห็นกับตาว่าเราสามารถปลูกพืชหลายชนิด ในที่ดินแปลงเดียวกันได้
ชาวบ้านที่รู้เรื่องต่างมีความสุข รู้สึกตื่นเต้นอยากจะมาดูมาเห็นของจริงว่า ในโลกก็มีการปลูกพืชอย่างนี้ได้ด้วย และต้องการจะเอารูปแบบนี้ไปทำในที่ดินของตัวเอง”
แม้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของกษัตริย์ไทยจะช่วยพลิกชีวิตชาวเลโซโทได้จริง แต่ผู้ช่วยเกษตรสาวคนรุ่นใหม่ มีความกังวลว่า แนวทางนี้จะได้ผล สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องมีแหล่งน้ำ
ทุกวันนี้ เกษตรกรเลโซโท 90% ยังคงยึดมั่นการปลูกพืชแบบพึ่งพาน้ำฝนอย่างเดียว...ครั้นจะใช้ระบบชลประทาน คงทำไม่ไหวเพราะค่าใช้จ่ายแพงเกินไป แต่แนวทางหนึ่งที่พอจะทำได้นั่นคือ คงต้องให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน จัดการทำระบบผันน้ำจากภูเขา จากหิมะที่ละลายลงมายังแปลงเกษตร
“ที่ผ่านมาเราไม่เคยคิดจะทำกัน ได้แต่รอน้ำจากฝนบนฟ้าอย่างเดียว แต่เมื่อมีตัวอย่างให้เห็นจากที่ผู้เชี่ยวชาญไทยได้ทำขึ้นกับแปลงสาธิตนี้ เราเชื่อชาวเลโซโทก็ทำได้”
เพียงแต่ขอให้คนเลโซโท มีโอกาสเห็นกับตาเท่านั้นเองว่า เรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ในโลก.