วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 23, 2551

ระวัง! ภัยในสารปนเปื้อนจากอาหาร

สารปนเปื้อนในอาหาร เป็นสารพิษที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งมีผลทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจนถึงเสียชีวิตได้ สารปนเปื้อนในอาหารแบ่งตามลักษณะการเกิดได้ 2 ประเภทคือ
1. สารพิษที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แบ่งออกตามชนิดของสารพิษได้ดังนี้
สารพิษจากเชื้อจุลินทรีย์ เช่น สารอะฟลาทอกซิน (aflagoxin) ซึ่งเป็นสารสร้างจากเชื้อราพวก แอสเพอร์จิลลัส (aspergillus spp) รานี้เจริญได้ดีในถั่วลิสงและเมล็ดพืชที่ชื้น ซึ่งความร้อนสูงไม่สามารถทำลายสาร อะฟลาทอกซิน ได้ ส่วนใหญ่สารนี้จะตกค้างที่ตับทำให้เกิดเป็นมะเร็งตับ
2. สารพิษที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ส่วนให้เป็นผลมาจากความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เรานำมาใช้ในชีวิตประจำวัน มีดังนี้
สารตกค้างจากการเกษตร เช่น ดีดีที ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ซึ่งอาจสะสมในอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปจะเกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
สิ่งเจือปนในอาหาร แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. สารกันอาหารเสีย เป็นสารที่ช่วยให้อาหารคงสภาพ รส กลิ่น เหมือนเมื่อแรกผลิตและเก็บไว้ได้นาน เช่น สารกันบูด สารกันหืน เป็นต้น
2. สารแต่งกลิ่นหรือรส เป็นสารที่ช่วยให้อาหารมีรสและกลิ่นถูกใจผู้บริโภค หรือใช้แต่งกลิ่นรส ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าเป็นของแท้ หรือมีส่วนผสมอยู่มากหรือน้อยทั้งที่เป็นของเทียม
สารเหล่านี้ได้แก่ เครื่องเทศ สารกลิ่นผลไม้ สารรสหวานประเภทน้ำตาลเทียม ซึ่งเป็นสารที่ให้ความหวานแต่ไม่ใช่น้ำตาล ผงชูรสเป็นสารประกอบที่เรียกว่ามอโนโซเดียมกลูตาเมต ถ้าเป็นผงชูรสปลอมจะใส่ สารโซเดียมเมตาฟอสเฟตและบอแรกซ์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตมาก
3. สีผสมอาหาร เป็นสีที่ใส่เพื่อจะช่วยแต่งเติมให้อาหารน่ารับประทานยิ่งขึ้น มีทั้งสีจากธรรมชาติซึ่งเป็นสีที่ได้จากพืชและสัตว์ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เช่น สีดำจากถ่าน สีแดงจากครั่ง และสีสังเคราะห์ส่วนมากจะเป็นสารพิษที่ร้ายแรงต่อร่างกาย มักมีตะกั่วและโครเมียมอยู่ เช่น สีย้อมผ้า
จะเลือกซื้ออาหารมารับประทานเห็นทีผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องระมัดระวังและใส่ใจกับสุขภาพกันให้มากยิ่งขึ้น.
เอื้อเฟื้อข้อมูลจาก อาจารย์นงคราญ ธาราทิพยกุล