3.ไทยหวิดฉะกัมพูชา ชิงหินพระวิหาร
วันที่ 17 มิถุนายน 2551 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มีมติเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชา กรณีการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากชาวไทยว่าไม่ควรสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว และการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะทำให้ไทยสูญเสียดินแดนบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหารไปด้วย ได้มีการยื่นฟ้องศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉิน มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้ ครม.ดำเนินการใดๆ ตามที่อ้างมติ ครม.
วันที่ 17 มิ.ย.ดังกล่าว ขณะเดียวกันทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เป็นหนังสือสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคสอง ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ กระทั่งวันที่ 8 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่าแถลงการณ์ดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จากนั้น พรรค ปชป.ได้ดำเนินการยื่นถอดถอนนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง วันที่ 10 ก.ค. นายนพดลได้ลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือขายชาติตามที่ถูกกล่าวหา ขณะที่รัฐบาลได้แต่งตั้งนายเตช บุนนาค เป็น รมว.ต่างประเทศแทน หลังจากนั้นสถานการณ์ชายแดนไทยบริเวณปราสาทพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ จึงตึงเครียดขึ้น จนกระทั่งมีการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา จากการลาดตระเวนล้ำพรมแดนของทหารกัมพูชา ทำให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 2 นาย ส่วนฝ่ายทหารไทยเสียชีวิต 1 นาย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทั้งสองประเทศได้พยายามอย่างเต็มที่ในการประสานความร่วมมือไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน จนเหตุการณ์ได้เย็นลงอย่างรวดเร็วเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่บานปลายกลายเป็นสงครามแย่งดินแดนกันอย่างที่ประชาชนชายแดนหวาดผวากัน.