2.การเมืองผันผวน ม็อบป่วน...เมืองปิด
ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ที่พรรคพลังประชาชน ในฐานะนอมินีของพรรคไทยรักไทย กำชัยชนะเลือกตั้งใหญ่ได้ที่นั่งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรมาเป็นอันดับ 1 ได้สิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล โดยนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางวิกฤติประเทศจากขั้วอำนาจเก่าใหม่อย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถทัดทานกระแสได้ สุดท้ายวันที่ 9 กันยายน 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้นายสมัครหมดสภาพนายกรัฐมนตรี จากการรับจ้างเป็นพิธีกรรายการชิมไปบ่นไป พรรคพลังประชาชนยังไม่ละความพยายามเดินหน้าเสนอนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สถานการณ์การเมืองไทยยิ่งเลวร้าย ลงไปกว่าเดิม โดยขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย 5 แกนนำ นายสนธิ ลิ้มทองกุล พลตรีจำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ที่ก่อหวอดชุมนุมอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ 25 พฤษภาคม บริเวณถนนราชดำเนินนอก สะพานมัฆวานรังสรรค์ กระทั่งบุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม เรื่อยมาจนถึงขั้นบุกปิดล้อมรัฐสภาไม่ให้รัฐบาลนายสมชายได้แถลงนโยบายรัฐบาลก่อนจะปฏิบัติหน้าที่ จนต้องมีการปฏิบัติการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภา เข้าไป ทำให้เกิดเหตุ 7 ตุลาคมเลือด มีผู้เสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บอีกนับร้อยราย ทั้งฝ่ายพันธมิตรฯและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ความขัดแย้งปะทะกันบานปลายกลายเป็นเรื่องระหว่างคนไทย 2 ฝ่าย เสื้อเหลืองหรือพันธมิตรฯ และเสื้อแดงหรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
24 พฤศจิกายน กลุ่มพันธมิตรฯยกขบวนดาวกระจายจากทำเนียบรัฐบาล ไปปิดล้อมทำเนียบชั่วคราวที่สนามบินดอนเมืองไม่ให้รัฐบาลสมชายใช้ประชุม ครม.ได้ ถัดมาอีกวัน 26 พฤศจิกายน พันธมิตรฯยกระดับการต่อสู้ขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดขายชาติ ด้วยการยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จนกลายเป็นเรื่องที่โลกต้องจับตาดูอย่างที่ไม่ดูไม่ได้ เพราะมีชาวต่างชาตินับแสนคนได้รับผลกระทบอย่างจังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ขณะที่รัฐบาลสมชายที่งัด พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาใช้ ก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้รับสนองอำนาจไม่ยอมใช้อำนาจที่ได้รับมา แถมตอกหน้ารัฐบาลหงายอย่างสิ้นท่าอีกด้วย จนวาระสุดท้ายของรัฐบาลสมชายมาพบจุดจบเมื่อศาลรัฐ-ธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชนพร้อมกับพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ตามความผิดกฎหมายเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2550 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จึงหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีทั้งคณะ ในทันทีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 นั่นเองที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงได้ถอนออกจากสนามบินและทำเนียบรัฐบาลในวันต่อมา
นับแต่นั้นเป็นต้นมา การเมืองไทยก็กลับเข้าสู่สภาวะสุญญากาศ ไร้นายกรัฐมนตรี การช่วงชิงอำนาจที่บริหารประเทศระหว่าง 2 ขั้วอำนาจจึงได้เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้งส่งท้ายปี โดยวันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พรรคประชาธิปัตย์ ได้รวบรวมรายชื่อ ส.ส. เสนอขอเปิดประชุม สภาฯเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ ปชป.เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคใหม่หมาดๆ ของ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเดิม ก็ไม่ยอมรามือ มอบอำนาจให้นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ แรกตั้งรัฐบาลสมัคร เป็นผู้จัดการจัดเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยเสนอชื่อ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นคู่ฟัดชิงกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หล่อใหญ่ค่าย ปชป. ผลปรากฏว่านายอภิสิทธิ์เอาชนะไปด้วยเสียง ส.ส.235 ต่อ 198 ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศไทยคนที่ 27 อย่างสวยงามท่ามกลางหนทางที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อบนขอบเหวอันน่าระทึกใจ.