วันเสาร์, พฤศจิกายน 15, 2551

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตอนที่ 3

นัยความหมายแห่งพระนามในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นั้น เนื้อความมี ๓ ตอนด้วยกัน คือ
๑.
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ หมายถึงทรงเป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี พระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (โสทรเป็นคำสนธิระหว่างส แปลว่าร่วม และ อุทรแปลว่าท้อง รวมความแปลว่าพี่สาวร่วมท้องของพระเจ้าแผ่นดิน)

๒.
เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา คำว่า “เจ้าฟ้า” นั้นเป็นพระราชสกุลยศสูงสุดรองจาก พระเจ้าแผ่นดินลงมา ตามพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม เจ้าฟ้ามีได้ ๑๑ ประเภท แต่โดยส่วนของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็น “เจ้าฟ้าชั้นโท” มีคำขานพระนามลำลองว่า “สมเด็จ” เช่น สมเด็จหญิง เป็นต้น คำว่า “กัลยาณิวัฒนา” เป็นพระนามพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งสร้อยพระนาม “วัฒนา” ก็มาจาก “สว่างวัฒนา” อันเป็นพระนามาภิไธยเดิมของ ผู้ทรงเป็น “สมเด็จย่า” ของพระองค์นั่นเอง


๓.
กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชประเพณีไทยในการสถาปนา พระอิสริยศักดิ์หรือฐานะของเจ้านายให้สูงขึ้นนั้น ปรากฏมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายไว้ในหนังสือเรื่อง “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” ว่า
“...ยศพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเจ้าฟ้าก็ดี พระองค์เจ้าก็ดี หม่อมเจ้าก็ดี เป็นตำแหน่งสำหรับเลื่อนขึ้นได้ แล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดเกล้าฯ...”
และมีข้อน่าสังเกตอยู่ว่า เมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระราชโอรส พระราชธิดาในพระองค์ ควรจะมีพระนามเป็นเกียรติแก่เมืองต่างๆในสยามรัฐสีมาอาณาจักร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ขึ้นทรงกรมตามนามเมืองเป็นพระราชประเพณีสืบมา เฉพาะแต่พระราชโอรส พระราชธิดาที่พระราชสมภพแต่สมเด็จ พระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ทรงกรมตามนามเมืองทางภาคใต้ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (ต่อมาทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยพระบรมอัฐิเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อพ.ศ.๒๕๑๓) เหตุดังกล่าวนี้ต่อมายังผลให้พระนามกรมของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระนามตามนามเมืองในภาคใต้ ตามสายราชสกุลที่สืบต่อมา แต่กาลก่อน

ในประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรไทย ยังไม่มีปรากฏว่ามีขัตติยราชนารีพระองค์ใดที่ทรงพระคุณเป็นอเนกปริยาย ทรงสถิตเป็นหลักชัยมั่นในที่ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ” มากว่า ๗๒ ปี และแม้จะทรงเจริญพระชนมายุขึ้นสูง ก็มิได้เป็นเครื่องชักจูง ให้ทรงย่อท้อหรือหวั่นไหว หากแต่ทรงมีพระหฤทัยที่แน่วแน่และมุ่งมั่น ทำให้พระราชกิจน้อยใหญ่ที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญบรรลุศุภผลยังประโยชน์และความผาสุกมั่นคง ให้เกิดแก่อาณาประชาราษฎร์และประเทศไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล พสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั่วทุกเขตคามและขอบขัณฑสีมาจึงมีความผาสุกร่มเย็นทั่วหน้ากัน