พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา” และในพ.ศ. ๒๔๗๘ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระเกียรติเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา” ทั้ง ๓ พระองค์ “...ได้ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งเป็นผู้ที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง...” ไม่เพียงแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ได้ทรงมีความเอื้ออาทรและเกื้อกูลเป็นอันมากต่อพระอนุชาทั้ง ๒ พระองค์ หากแม้ในขณะที่พระอนุชาทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จดำรงเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นมิ่งขวัญร่มฉัตรแก่พสกนิกรชาวไทย
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ยังได้ทรงบำเพ็ญพระราชกิจน้อยใหญ่สนองเบื้องพระยุคลบาทไว้เป็นอเนกประการแก่บ้านเมือง พ.ศ. ๒๔๘๗ ทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เพื่อทรงเสกสมรส
ต่อมาพ.ศ. ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาให้กลับทรงพระอิสริยายศฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตามเดิมทุกประการ
ครั้นพ.ศ. ๒๕๓๘ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ เสมอด้วยพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ ๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในตามธรรมเนียมราชประเพณีเป็นพระองค์แรกและพระองค์เดียวในรัชกาล ทรงพระนาม ตามพระสุพรรณบัฎว่า“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”