วันพฤหัสบดี, เมษายน 16, 2552

น้ำแข็ง


คนไทยทุกเพศทุกวัยนิยมบริโภคน้ำแข็ง อาจเนื่องจากเมืองไทยของเราเป็นเมืองร้อน การกินน้ำแข็งช่วยให้คลายร้อนได้ และกลายเป็นความเคยชินสำหรับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน ฤดูฝน หรือฤดูหนาว ที่แม้อากาศจะหนาวเย็นขนาดไหนคนไทยก็ยังนิยมกินน้ำแข็ง
วิธีกินน้ำแข็งก็มีทั้งนำมาใส่น้ำเปล่าดื่ม เรียกว่า “น้ำแข็งเปล่า” หากเป็นน้ำแข็งที่ไม่ใส่น้ำก็มักจะเรียกว่า “น้ำแข็งแห้ง” อีกทั้งยังนำมาใส่เครื่องดื่มต่างๆ ตลอดจนใส่ขนมหวานนานาในรูปของน้ำแข็งไสหรือน้ำแข็งบด การดื่มเครื่องดื่มหรือกินขนมหวานที่ใส่น้ำแข็งจะทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยคลายร้อนได้ ในทางกลับกัน ถ้าน้ำแข็งไม่สะอาดก็จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ นั่นก็คือโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้เช่นกัน
น้ำแข็งที่คนไทยบริโภคที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้นจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ น้ำแข็งหลอด และน้ำแข็งซอง
น้ำแข็งหลอดเป็นน้ำแข็งก้อนรูปทรงกระบอก มีรูอยู่ตรงกลาง มีทั้งหลอดเล็กและหลอดใหญ่ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อ โดยบรรจุในถุงพลาสติกใสขนาดถุงละประมาณ 1 กิโลกรัม หากไปซื้อที่ร้านขายส่งน้ำแข็งก็จะชั่งขายเป็นกิโลกรัม ในกระบวนการผลิตน้ำแข็งหลอดจะผลิตด้วยเครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติ โดยผลิตออกมาในรูปหลอดยาวๆ แล้วมีเครื่องมือช่วยตัดอัตโนมัติให้มีขนาด 1-1 ฝ นิ้ว
ส่วนน้ำแข็งซองนั้นเรียกชื่อตามลักษณะของแบบพิมพ์ที่ใช้ในการผลิต ซึ่งวางเป็นซองๆ หรือช่องๆ น้ำแข็งซองเป็นน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ ในสมัยก่อนประมาณ 30-40 ปี เมืองไทยยังไม่มีการผลิตน้ำแข็งหลอดออกมาจำหน่ายเพื่อการบริโภค ก็ต้องบริโภคน้ำแข็งซองกัน เวลาซื้อก็จะบอกคนขายว่าต้องการน้ำแข็งเท่านั้นเท่านี้ “มือ” ก็คือน้ำแข็งซอง 1 ซอง เมื่อผ่าครึ่งจะได้ 2 ก้อน แต่ละก้อนเรียกว่า 1 กั๊ก น้ำแข็ง 1 กั๊กเมื่อนำมาแบ่งออกเป็น 4 ก้อน ก้อนละเท่าๆ กัน แต่ละก้อนเรียกว่า 1 มือ ดังนั้นน้ำแข็ง 1 ซองจะมี 8 มือ ที่เรียกเป็นมืออาจเนื่องมาจากน้ำแข็ง 1 มือมีขนาดก้อนที่เราจะถือได้พอดีมือ เวลาบริโภคก็จะนำน้ำแข็งไปแช่น้ำดื่มซึ่งนิยมแช่ในกระติกน้ำแข็งที่ช่วยเก็บความเย็น หรือนำไปทุบให้เป็นก้อนเล็กๆ แต่ในปัจจุบันน้ำแข็งซองไม่เป็นที่นิยมสำหรับครัวเรือนทั่วไป เพราะไม่สะดวกและหาซื้อยาก และบางคนก็ไม่นิยมบริโภคน้ำแข็งซองเพราะรู้สึกไม่สะอาดเหมือนน้ำแข็งหลอด สำหรับร้านค้าโดยเฉพาะร้านอาหารทั่วไปนิยมใช้น้ำแข็งบด ซึ่งก็คือน้ำแข็งซองนำไปบดนั่นเอง และด้วยราคาที่ไม่แพง น้ำแข็งบดจึงเป็นที่นิยมของร้านอาหาร หากนำน้ำแข็งซองไปไสก็จะเรียกว่า “น้ำแข็งไส” เมื่อนำไปใส่ในขนมหวาน เช่น ลูกชิด มันเชื่อม ข้าวต้มน้ำวุ้น ฯลฯ คนทั่วไปก็มักจะเรียกว่าขนมน้ำแข็งไส
น้ำแข็งจะสะอาดเพียงพอหรือไม่ต้องดูตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง ตลอดจนการเก็บรักษา คนส่วนใหญ่หรือแม้กระทั่งผู้ผลิตมีความเข้าใจผิด คิดว่าน้ำแข็งไม่มีจุลินทรีย์ คือจุลินทรีย์ไม่สามารถมีชีวิตและเจริญเติบโตในน้ำแข็งได้ แต่จริงๆ แล้วกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สำรวจพบว่ามีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ในน้ำแข็งที่วางจำหน่ายจำนวนมาก จึงได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยโภชนาการ โดยรศ. ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ และคณะ ทำการศึกษาหาวิธีการผลิตน้ำแข็งให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งผลการวิจัยพบว่าในขั้นตอนการผลิตต้องเริ่มให้ความสำคัญตั้งแต่น้ำดิบที่นำมาใช้ในการผลิต คือถ้าน้ำดิบที่ใช้ทำน้ำแข็งไม่สะอาดก็จะเป็นแหล่งเจริญเติบโตอย่างดีของจุลินทรีย์ทีเดียว นอกจากนี้ต้องดูสถานที่ผลิตน้ำแข็ง การขนส่ง ภาชนะที่ใช้ใส่น้ำแข็ง เป็นต้น
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลผู้ผลิตอาหาร ให้ผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้คนเราบริโภค ได้ออกกฎหมายกำหนดให้น้ำแข็งเป็นอาหารในกลุ่มที่มีการกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน นั่นคือผู้ใดที่ต้องการผลิตน้ำแข็งออกมาจำหน่ายในท้องตลาดต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ อย. กำหนดไว้ หากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิด ถูกลงโทษทางกฎหมายได้ เช่น น้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตน้ำแข็งเพื่อการบริโภคต้องมีมาตรฐานเช่นเดียวกับน้ำดื่มบรรจุในภาชนะปิดสนิท การเก็บรักษาน้ำแข็งห้ามใช้แกลบ ขี้เลื่อย กระสอบ กาบมะพร้าว เสื่อ หรือวัสดุอื่นๆ ทำนองเดียวกันมาห่อหุ้มน้ำแข็ง เป็นต้น ในเรื่องของการเก็บรักษาไม่ให้น้ำแข็งละลายเร็วโดยใช้แกลบ ขี้เลื่อย หรือกระสอบมาห่อหุ้ม แทบไม่พบเห็นในปัจจุบันแล้ว เพราะส่วนใหญ่โรงน้ำแข็งมักมีห้องเย็นหรือตู้แช่ขนาดใหญ่ไว้เก็บรักษาน้ำแข็ง ซึ่งสามารถถนอมน้ำแข็งไม่ให้ละลายเร็วเกินไปได้ดีกว่าการใช้ขี้เลื่อย แกลบ หรือกระสอบ นอกจากนี้กฎหมายยังครอบคลุมถึงสถานที่ในการผลิตน้ำแข็งด้วย ซึ่งถ้าโรงน้ำแข็งสามารถปฏิบัติได้ตามที่กฎหมายกำหนด เราก็มั่นใจได้ว่าน้ำแข็งที่ได้รับการผลิตออกมานั้นมีความปลอดภัย แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในการขนส่งน้ำแข็งก็อาจทำให้น้ำแข็งเกิดการปนเปื้อนได้เช่นกัน เช่น เรื่องความสะอาดของพื้นรถที่ใช้วางน้ำแข็ง ความสะอาดของเจ้าหน้าที่ที่ขนส่งน้ำแข็ง ตลอดจนเรื่องความสะอาดของถุงหรือกระสอบที่จะนำมาใส่น้ำแข็ง หากมีการใช้โดยไม่ทำความสะอาดที่ถูกต้อง และการใช้ซ้ำซากโดยไม่ทำความสะอาด ก็จะเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยโภชนาการดังกล่าวข้างต้นพบว่าการล้างถุงหรือกระสอบที่จะนำมาใส่น้ำแข็ง (กระสอบที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นกระสอบทอด้วยพลาสติกสีขาว ใส่น้ำแข็งได้ปริมาณมากๆ ) นอกจากจะล้างด้วยน้ำเปล่าแล้ว ต้องฆ่าเชื้อด้วยน้ำผสมคลอรีนในสัดส่วนที่กำหนด (ขึ้นอยู่กับปริมาณของถุงหรือกระสอบที่ใช้) ด้วยจึงจะสะอาดเพียงพอ และกระสอบที่ล้างเสร็จแล้วต้องนำไปใช้ภายใน 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นเชื้อจุลินทรีย์ก็จะเจริญเติบโตได้อีก ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผู้บริโภคมักไม่ทราบ แม้แต่ผู้ผลิตน้ำแข็งเองก็อาจไม่ทราบ จึงต้องมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยนี้ให้ทราบโดยทั่วถึงต่อไป
เรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของน้ำแข็งที่น่าสนใจ ก็คือ ตัวอักษรที่เขียนหรือพิมพ์ติดไว้ที่ถุงน้ำแข็ง จะเห็นได้ว่าเวลาที่เราซื้อน้ำแข็งถุงในร้านสะดวกซื้อ เราจะเห็นตัวอักษรดังกล่าวเป็นตัวอักษรสีน้ำเงินหรือสีฟ้า โดยไม่เคยพบเห็นว่ามีการใช้ตัวอักษรสีอื่นๆ ทั้งนี้เพราะ อย. มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าน้ำแข็งที่นำมาจะต้องมีข้อความว่า “น้ำแข็งใช้รับประทานได้” เป็นตัวอักษรสีน้ำเงิน และตัวอักษร “น้ำแข็งใช้รับประทานไม่ได้” เป็นสีแดง ซึ่งจะใช้สำหรับแช่ของเท่านั้น เพื่อเป็นการแบ่งชนิดของน้ำแข็งให้ชัดเจนนั่นเอง ดังนั้นถ้าเห็นถุงน้ำแข็งใช้ตัวอักษรสีแดง แม้ไม่เห็นคำว่า “ใช้รับประทานไม่ได้” ก็อย่าหลงนำมากินเด็ดขาด เพราะอาจไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพได้
อีกประเด็นหนึ่งของเรื่องน้ำแข็งที่น่าจะช่วยกันรณรงค์ให้มากก็คือ ถังน้ำแข็งใบเดียวกันใช้ทั้งแช่น้ำดื่มน้ำอัดลมสำหรับขายลูกค้า แช่ผัก ตลอดจนแช่เนื้อสัตว์ที่เตรียมไว้สำหรับนำไปทำอาหารขาย ในขณะเดียวกันก็ใช้น้ำแข็งนั้นมาให้ลูกค้ากิน ซึ่งนับว่าเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยมาก เพราะหลายๆ ครั้งที่พบเห็น น้ำอัดลมหรือน้ำดื่มบรรจุขวดนำไปแช่ในถังน้ำแข็งโดยไม่มีการล้างขวด ทั้งๆ ที่เห็นด้วยตาเปล่าว่าขวดเหล่านั้นไม่สะอาด มีฝุ่นละอองเกาะอยู่ ผักที่แช่ในถังน้ำแข็งก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าล้างสะอาด จึงอาจมีสารพิษตกค้าง อีกทั้งเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ยังไม่ผ่านความร้อนก็เสี่ยงต่อการมีจุลินทรีย์ปนเปื้อนสูง นอกจากนี้ผู้ปรุงอาหารมีการหยิบจับอาหารในถังน้ำแข็งตลอดเวลาที่ปรุงอาหาร ความไม่สะอาดของมือก็อาจปนเปื้อนลงในน้ำแข็งได้ ถึงแม้จะแช่อาหารเหล่านี้คนละด้านหรือคนละข้างกับน้ำแข็งที่ใช้บริโภคก็ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงต้องร่วมกันรณรงค์ให้มากๆ ให้รู้จักแยกถังน้ำแข็งแช่ของและถังน้ำแข็งสำหรับบริโภคออกจากกัน เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ลดความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้ลง
การที่น้ำแข็งที่ใช้บริโภคได้รับการควบคุมดูแลให้มีความสะอาดเหมาะสมกับการบริโภคเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนคนไทยที่ส่วนใหญ่นิยมกินน้ำแข็ง และในปัจจุบันนอกจากจะมีน้ำแข็งซองและน้ำแข็งหลอดแล้ว ยังมีน้ำแข็งเกล็ด ซึ่งผลิตจากเครื่องผลิตน้ำแข็งอัตโนมัติเช่นกัน โดยน้ำแข็งชนิดนี้กินแล้วได้ความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าเช่นเดียวกับน้ำแข็งซองและน้ำแข็งหลอด และเป็นที่นิยมของคนทั่วไป เพราะเวลาที่เราเคี้ยวหรือกัดกัดจะไม่แข็ง แต่กรอบอร่อย เมื่อนำไปใส่เครื่องดื่มหรือใส่ขนมหวานก็จะช่วยให้เครื่องดื่มหรือขนมหวานมีความเย็นทั่วถึงได้อย่างรวดเร็ว น้ำแข็งแบบนี้ยังไม่แพร่หลายเท่าน้ำแข็งซองหรือน้ำแข็งหลอด อาจเพราะหาซื้อยากและมีราคาแพงกว่าน้ำแข็งแบบอื่น สำหรับคุณภาพของน้ำแข็งนั้นก็ต้องพิจารณาถึงน้ำดิบที่นำมาผลิตเช่นกัน ถ้าน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตสะอาด น้ำแข็งที่ได้ก็ย่อมสะอาดด้วย ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยเช่นเดียวกับน้ำแข็งซองหรือน้ำแข็งหลอด
การที่เราจะบริโภคน้ำแข็งในแต่ละครั้งคงต้องให้ความสำคัญสนใจและพิจารณาน้ำแข็งที่จะกินด้วย อย่าคิดว่าน้ำแข็งมีอุณหภูมิต่ำมาก ไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เพราะจริงๆ แล้วหากผู้ผลิตไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ควบคุม นอกจากจะได้รับเชื้อโรคที่ปนเปื้อนแล้ว ยังมีสิทธิ์ได้รับสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ได้ด้วย เรื่องนี้ในฐานะผู้บริโภคก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อจะได้มีน้ำแข็งสะอาดบริโภคต่อ